โรงเรียนวัดรางเสน่ห์นครจันทร์

หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180

Mon - Fri: 9:00 - 17:30

080 251 8955

อคติเชิงการรับรู้

อคติเชิงการรับรู้

 

อคติเชิงการรับรู้

อคติเชิงการรับรู้ นักจิตวิทยาสังคม 2 คนชื่อ David Dunning และ Justin Kruger ทั้งสอง ทำวิจัย เกี่ยวกับความรู้และการแสดงออกถึงความรู้ของตน  แล้วเรียกสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า Dunning–Kruger effect หรืออาจจะเรียกว่า อคติเชิงการรับรู้ ซึ่งใช้อธิบายถึงเรื่องที่ว่า ทำไมคนรู้น้อยจึงคิดว่าตนรู้มาก ส่วนคนรู้มากกลับคิดว่าตนรู้น้อย 

โดยสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่า คนรู้น้อยนั้น มักจะคิดว่าสิ่งที่ตนรู้นั่นมากแล้ว เยอะพอแล้ว คนพวกนี้จึงมั่นใจในสิ่งที่ตนรู้อย่างมาก  ในทางตรงกันข้าม คนที่รู้มาก ซึ่งรู้เยอะมาก ทำให้คนพวกนี้ตระหนักว่า ยังมีสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้อีกมากมาย จึงไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองรู้อยู่

คนรู้น้อยบางคนจะคิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” คือ รู้ไปหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องอะไร  สามารถตอบได้หมดทุกคำถาม    ทั้งๆ ที่บางเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการงานอาชีพของตนเองเลยแม้แต่น้อย  หากลองพินิจพิเคราะห์ลงไปที่คำตอบ  ก็มักจะพบว่า สิ่งที่ตอบมานั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง แต่ก็ตอบออกมาแบบที่เชื่อมั่นในคำตอบของตนเองอย่างมาก  มากเสียจนคนที่สอบถาม ยังคิดว่านั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้องเป็นจริง  ก็ไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมาจากไหนกัน  ส่วนคนที่รู้มาก มักจะออกตัวอยู่เสมอว่า

ตนเองไม่ได้เก่ง หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ  แถมยังไม่เคยยกยอตนเองว่าเก่งกาจในเรื่องนั้นเรื่องนี้  จนบางครั้งเหมือนเป็นคนที่ไม่มีมั่นใจในตัวเองเสียด้วยซ้ำไป   แต่เมื่อคนพวกนี้ตอบสิ่งใดออกมา มักมีความถูกต้องเป็นจริงอย่างมาก

ในชีวิตประจำวันของเรา มักได้พบคนรู้น้อยที่คิดว่าตนรู้มาก และคนรู้มากที่คิดว่าตนรู้น้อย อยู่เสมอ   หากใช้ตัวเราเองเป็นตัวตั้ง จะมีอยู่ 2  สิ่งในโลกแห่งนี้ที่เป็นจริงอยู่ตลอดเวลา  นั่นก็คือ สิ่งที่รู้ และ สิ่งที่ไม่รู้   ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่ไม่รู้ มีอยู่มากกว่า สิ่งที่รู้  เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่า คนๆ หนึ่งจะรู้ไปหมดทุกเรื่อง เหตุผลก็เพราะมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล  ผู้คนก็มากหน้าหลายตา ความรู้ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้จึงมีอยู่มากมายเต็มไปหมด  เวลาพิจารณาคนรู้น้อย  คงไม่สามารถตีความไปได้ทั้งหมดว่าเป็นพวกรู้น้อยที่คิดว่าตนเองรู้มาก 

เพราะบางคนที่รู้น้อย ก็รู้ตัวว่าตนเองรู้น้อย คนพวกนี้จะไม่มาพูดคุยโอ้อวดอะไร  เมื่อไม่รู้ก็ยอมรับว่าไม่รู้  และพร้อมที่จะรับความรู้เพิ่มเติม  แต่ก็มีบางคนที่รู้น้อยแต่คิดว่าตนเองรู้มาก คนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าตนเองรู้น้อย  มักเข้าใจไปเองว่าสิ่งที่ตนเองรู้นั้นคือ ความรู้ทั้งหมดทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก  จึงเกิดความมั่นใจในตนเองอย่างสูง ดังนั้นคนลักษณะนี้จะไม่มีวันพัฒนาตนเองหาความรู้เพิ่มเติม ก็เพราะความเข้าใจผิดนั่นเอง

ส่วนคนรู้มากนั้น  ก็สามารถจำแนกได้เป็น  2 กลุ่มเช่นกันคือ  คนรู้มากที่คิดว่าตนเองรู้มาก  กับคนรู้มากที่คิดว่าตนเองรู้น้อย  กลุ่มคนรู้มากที่คิดว่าตนเองรู้มากนั้น  มักไม่ค่อยพบสักเท่าไร  เพราะคนที่รู้มากย่อมเข้าใจสัจธรรมที่ว่า ความรู้นั้นไม่มีวันหมดสิ้น คนพวกนี้ก็มักจะขวนขวายหาสิ่งที่ตนไม่รู้เพื่อให้รู้   แต่ในโลกที่มีการยกยอปอปั้นนั้น คนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะหลงไปกับคำสรรเสริญเยินยอจนคิดไปว่าตนเองเป็นเสมือนซุปเปอร์แมน รู้ไปหมดเสียทุกเรื่อง  และเมื่อถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ คนรู้มากที่คิดว่าตนเองรู้มากก็จะไม่ต่างอะไรกับคนรู้น้อยที่คิดว่าตนเองรู้มาก

  ส่วนคนรู้มากอีกจำพวกคือ คนรู้มากที่คิดว่าตนเองรู้น้อย  เป็นคนที่สามารถพบได้บ่อย   คนพวกนี้จะรู้และเข้าใจตนเองว่า ยังมีอะไรที่ไม่รู้อีกมากมาย  มักคิดอยู่เสมอว่า สิ่งที่ตนเองรู้นั้น มันเป็นเศษเสี้ยวของความรู้  ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมากมายมหาศาล  คนกลุ่มนี้จะพัฒนาตนเองให้รู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดเรียนรู้เลย

อคติเชิงการรับรู้นี้ คงเหมือนกับคำเปรียบเปรยเรื่อง น้ำเต็มแก้ว กับ น้ำครึ่งแก้ว  ซึ่งมักจะกล่าวกันว่า  “จงเป็นดั่งน้ำครึ่งแก้ว  อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว” นี่มักถูกนำมาใช้เป็นคำแนะนำในการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน   ในสังคมที่มีผู้เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ แล้วมักเรียกตนเองว่า ผู้เชี่ยวชาญบ้าง  โค๊ชบ้าง  ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่นิยมทำกันอยู่ทั่วไป

  แต่นักวิเคราะห์มักระบุว่า นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง   การยกตนแบบนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด  ทั้งจะมีผลเชิงลบต่อตนเองด้วยซ้ำ   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการยกตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ  แสดงว่าคนๆ นั้นได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของสิ่งที่ต้องทำแล้ว  ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ รู้มากจนรู้หมดเสียแล้ว  ไม่มีสิ่งใดหลงเหลือให้เรียนรู้อีกแล้ว  เมื่อใดก็ตามที่เข้าใจตนเองตามนั้น ก็หมายถึง การเป็นน้ำเต็มแก้ว ที่ไม่ต้องการน้ำใดๆ เติมลงไปอีก

แล้วน้ำครึ่งแก้วล่ะคืออะไร ในทางตรงกันข้ามกับการเข้าใจว่าตนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่รู้รอบไปเสียทุกอย่าง  ก็บอกตนเองว่า ตนนั้นเป็นผู้ใฝ่หาความรู้   ความรู้นั้นมีอยู่รอบด้าน  รอเพียงผู้ใฝ่รู้จะหยิบยื่นมือมาจับมาเรียนรู้   การทำถูกบ้างผิดบ้างก็ไม่ได้แสดงว่าคนๆ นั้นโง่เขลาเบาปัญญา  แต่จงใช้โอกาสนั้นในการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ 

ที่ตนเองเพิ่งเคยพบประสบมา  และนั่นคือประสบการณ์ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างมีสติและรู้เท่าทันในทุกสถานการณ์    อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า น้ำครึ่งแก้ว เป็นเสมือนการเปิดใจของตนเองให้รับเอาสิ่งใหม่เข้ามาสู่ตนเอง ปล่อยใจให้ว่าง  ไม่สร้างกำแพงในใจขึ้นมาต่อต้านด้วยอคติ คนๆนั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นน้ำครึ่งแก้วได้แล้ว   โลกที่อยู่กันทุกวันนี้มีสิ่งที่มนุษย์ยังไม่รู้อีกมากมาย ที่รอให้มนุษย์ไปเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

เรื่อง น้ำเต็มแก้ว กับ น้ำครึ่งแก้ว  นี้  คนจีนก็นำเอามาเป็นสิ่งเปรียบเปรยด้วยเช่นกัน  ลองรินน้ำชาลงจอกกระเบื้อง  จองหนึ่งรินจนเต็ม  อีกจอกหนึ่งรินเพียงครึ่งจอก  จากนั้นใช้ตะเกียบเคาะที่จอกทั้งสอง  จอกที่มีน้ำชาเพียงครึ่งเดียวเมื่อเคาะแล้วเสียงจะดังกว่าจอกที่มีน้ำชาอยู่เต็ม  เพียงแต่ว่าคนจีนเค้าเปรียบชาครึ่งจอกเหมือนคนรู้น้อยแล้วคุยโวเสียงดัง  ส่วนคนรู้มากเหมือนชาเต็มจอกที่ไม่ต้องคุยมากแต่รู้จริง   ชาติตะวันตกมีการเปรียบเทียบเรื่องน้ำครึ่งแก้วเหมือนกัน คนบางคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะมองน้ำครึ่งแก้วว่า มีน้ำเหลือแค่ครึ่งแก้ว (ซึ่งคงไม่พอดื่ม) แต่คนมองโลกในแง่ดีก็จะมองว่า มีน้ำอยู่อีกตั้งครึ่งแก้ว (ซึ่งเหลือเฟือที่จะดื่ม)

โรงเรียนวัดรางเสน่ห์นครจันทร์